วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเพาะเลี้ยงปลาหมอสี


- ปลาหมอสีเป็นปลาสวยงามอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น จากนักเลี้ยงปลาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเป็นงานอดิเรกถึงแม้ว่าปลากลุ่มนั้นส่วนใหญ่เป็นปลานำเข้าจากทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้และกลุ่มประเทศอเมริกากลาง จัดอยู่ในวงศ์ชิลคลิดี การแพร่กระจายของปลาวงศ์นี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมดังเช่น ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยทะเลสาบ แม่น้ำลำธาร หนองบึง จึงส่งผลให้ปลามีความหลากหลายทั้งชนิด สายพันธุ์ รูปร่าง และการดำรงชีวิต ซึ่งมีทั้งปลาบริโภคและปลาสวยงาม ได้แก่ ปลานิล ปลาหมอเทศ ปลาปอมปาดัวร์ ปลาเทวดา ปลาออสการ์ ฯลฯ ปลาเหล่านี้สามารถปรับตัวได้ดี จัดเป็นปลาเลี้ยงง่าย
- เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดปลาหมอสีนั้น คุณสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานสัตว์น้ำ กรมประมง ได้กล่าวไว้ในหนังสืออนุกรมวิธานปลาหมอสีในประเทศไทยและได้ฝากบอกมายังท่านสมาชิกวารสารอีกว่า ก่อนตัดสินใจเลี้ยงปลาหมอสีจะต้องศึกษาข้อมูลหลายประการ เนื่องจากการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เช่น ชนิดของปลาหมอสี พฤติกรรม ถิ่นกำเนิด น้ำ แสงสว่าง อาหาร และการตกแต่งตู้ เพราะปลาหมอสีมาจากแหล่งที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ ปลาหมอสีที่เลี้ยงในบ้านเรา ส่วนใหญ่มาจากทะเลสาบมาลาวีและแทนแกนยีกา ปลาที่มาจากทะเลสาบเดียวกันควรอยู่ในตู้เดียวกัน ถ้าแบ่งกลุ่มเลี้ยงเป็นตู้ฯ ก็จะสะดวกในการดูแล เพราะปลาแต่ละกลุ่มกินอาหารแตกต่างกัน สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ด้านใดด้านหนึ่งของตู้ปลาต้องทาด้วยสีดำหรือสีน้ำเงินปนดำหรือใช้กระดาษหรือฟิล์มปิดแทนก็ได้เพื่อช่วยลดความเครียด เพราะเมื่อปลาหมอสีตื่นตกใจก็จะหลบอยู่ในมุมที่มีแสงสว่างน้อย
1.ขนาด ตู้เลี้ยงปลาควรมีขนาดใหญ่ ความจุไม่น้อยกว่า 500 ลิตร แต่ถ้ามีตู้เล็กก็แยกเลี้ยงเพียงตู้ละหนึ่งตัวตู้ด้านบนมีฝาปิดเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ และช่วยให้อุณหภูมิของน้ำไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
2.แสงสว่าง ควรให้แสงสว่างที่เหมาะสม หากแสงสว่างมากเกินไปจะทำให้ปลาไม่ออกสี ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง
3.การตกแต่ง ปัจจุบันวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งได้มีการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ก้อนหินทำจากไฟเบอร์กลาส ถ้าใช้ของจริงควรเลือกใช้วัสดุที่เบาและไม่มีสารพิษละลายน้ำได้ อาจใช้กรวดหรือทรายธรรมชาติล้างให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้หลาย ๆ วัน เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก ที่ติดมากับหินและทรายให้หมด หากใช้ก้อนหินจริงที่มีขนาดใหญ่วางบนพื้นทราย ปลาจะขุดคุ้ยทรายและทำให้ก้อนหินล้มลงกระทบกระจกตู้ปลาแตกเสียหายได้
4.น้ำเลี้ยงปลา น้ำในทะเลสาบมาลาวีมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างเฉลี่ยประมาณ 8.8 ฉะนั้นน้ำไม่ควรอยู่ในช่วง 7.0 -8.5 อุณหภูมิปกติ 23-28 องศาเซลเซียส ปลาจากทะเลสาบแทนแกนยีกา ควรมีค่าของน้ำระหว่าง 7.8 - 9.5 ปัจจุบันร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเลี้ยงปลาสวยงามมีเกลือที่ใช้ปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำได้ ส่วนปลาที่มาจากทะเลสาบวิกตอเรีย อเมริกากลางและอเมริกาใต้ไม่มีปัญหาเรื่องความเป็นกรดเป็นด่างและอุณหภูมิของน้ำ ข้อควรระวัง ปลาที่นำเข้ามาทุกครั้งก่อนปล่อยลงตู้หรือบ่อเลี้ยงควรวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำในถุงด้วย ถ้ามีความแตกต่างกับน้ำในตู้ปลาควรปรับให้มีค่าใกล้เคียงกันมากที่สุด ซึ่งทำง่ายโดยใช้กระดาษลิตมัส
5.อาหาร ปลาหมอสีสามารถปรับตัวได้ดีกินอาหารได้ทุกประเภท แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมไขมันจากเนื้อสัตว์ เพราะไขมันจะไปทำลายตับของปลาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาที่เลี้ยงตาย ฉะนั้นอาหารที่ใช้เลี้ยงควรมีส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับอาหารธรรมชาติมากที่สุด ปลาหมอสีกินพืช ควรเลี้ยงอาหารปลากินพืช พวกปลากินสัตว์ เช่น กุ้ง ไรน้ำเค็ม หรืออาหารสำเร็จรูปที่ใช้เลี้ยงกับอาหารสำเร็จรูปที่ใช้โดยทั่วไปควรมีส่วนประกอบของกากถั่ว กุ้ง สาหร่ายเกลียวทอง ปริมาณอาหารไม่ควรให้เกินความต้องการของปลา จะทำให้ปลาอ้วนและอ่อนแอ ในกรณีเลี้ยงเพื่อการเพาะพันธุ์ ถ้าให้อาหารมากเกินไปจะทำให้ปลาไม่มีไข่และน้ำเชื้อธรรมชาติของปลาหมอสีเป็นปลาที่อดทน สามารถอดอาหารนับสิบวัน หากท่านไม่อยู่บ้าน 5 - 10 วัน ปลาก็สามารถอยู่ได้อย่างปกติ แม้ว่าในแหล่งน้ำธรรมชาติมีอาหารจำกัด โดยเฉพาะแม่ปลาที่ฟักไข่ด้วยปาก ต้องอมไข่จนไข่ฟักเป็นตัว และอมต่อไปจนกระทั่งลูกปลาสามารถว่ายน้ำออกจากปาก เพื่อหากินอาหารต่อไป ซึ่งใช้เวลาอีก 15-20 วัน ในระยะนี้แม่ปลาจะไม่กินอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น
6.พันธุกรรม พันธุกรรมของปลาหมอสีที่มีผลต่อการควบคุมพัฒนาการของลักษณะต่าง ๆ ที่เรียกว่า ยีน การรวมของยีนจะประกอบด้วยยีนจากพ่อและแม่ของสัตว์แต่ละชนิด การผ่าเหล่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งมีผลแสดงออกมาให้เห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลักษณะทางโครงสร้างและสีสัน เช่น การเกิดเป็นสีเผือก จุดสีหรือจุดสีอื่น ๆ ที่แปลก ออกไป โดยทั่วไปเป็นที่ยอมรับกันว่า กลุ่มปลาหมอสีมีความสำคัญของการจำคู่ของตน แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติจะเป็นตัวทำให้เกิดความสมดุลในกลุ่มของมันเอง ในกรณีการเกิดเลือดชิด ก่อให้เกิดปลาชนิดใหม่ท่านสมาชิกและผู้อ่านหนังสือพิมพ์วารสารการประมงได้ทราบเรื่องราวปลาหมอสีมาพอสังเขปบ้างแล้ว แต่ถ้าต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมศึกษาได้จากหนังสืออนุกรมวิธานปลาหมอสีในประเทศไทย ในช่วงนี้ขอเชิญไปเยี่ยมชมฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาหมอสี พบกับคุณสมขายและคุณสมศักดิ์ หิรัญกรณ์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงปลาหมอสีเป็นงานอดิเรก ในช่วงวันหยุดก็จะให้และใช้เวลามาทุ่มเทกับการดูแลปลา นับเป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดียิ่งภายในครอบครัว พบกับคุณสมชาย หิรัญกรณ์ได้เลยค่ะ